ALEC : Algal Excellent Center
Thailand Institute of Scientific and Technological Research (TISTR)

หน่วยงานในสังกัด
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  

          ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าสาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากสาหร่ายเจริญเติบโตโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงจึงมีศักยภาพสูงที่จะใช้เป็นวัตถุดิบแหล่งใหม่ในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของโลก 2 ด้าน คือ โลกร้อน (โดยการตรึง CO2ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก) และวิกฤตพลังงาน (โดยการสะสมน้ำมันในชีวมวล) นอกจากเป็นแหล่งพลังงานใหม่แล้ว กระบวนการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายสายพันธุ์คัดเลือกที่เหมาะสมยังก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ร่วม (co-products) ต่างๆ อีกมาก เช่น สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ อาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ ปุ๋ยชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ฯลฯ การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหมาะสมที่สุดในการผลิตชีวมวลสาหร่าย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย เป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ได้แก่ วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการด้านสาหร่ายน้ำจืดมากว่า 25 ปี เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือ จัดการคลังสาหร่าย เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ตามเป้าหมายการใช้ประโยชน์ กลางน้ำ คือ ศึกษาสภาพที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงทั้งระดับห้องปฏิบัติการและกลางแจ้ง และปลายน้ำ คือ วิจัย พัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงระดับต้นแบบกลางแจ้ง (100,000-400,000 ลิตร ในอ่างเพาะเลี้ยงแบบลู่อย่างต่อเนื่อง) เพื่อผลิตชีวมวล หรือผลิตภัณฑ์เป้าหมายอื่นๆ จากสาหร่ายสายพันธุ์คัดเลือก

วว. เป็นหน่วยงานเดียวที่ให้บริการสายพันธุ์สาหร่าย ตรวจวิเคราะห์สารพิษจากสาหร่ายในน้ำประปาและน้ำดื่ม และทดสอบนิเวศพิษวิทยาด้วยสาหร่าย และมีความร่วมมือในเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.-THINK ALGAE) โดยการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินชุดโครงการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กอย่างบูรณาการ โดยใช้กระบวนการผลิตร่วม (co-processes) กับของเสีย เช่น น้ำทิ้ง และก๊าซ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งผลิตผลิตภัณฑ์ร่วม (co-products) เช่น ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม อันจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย น้ำมันดิบจากสาหร่ายที่ผลิตจากโรงงานต้นแบบ วว. ได้นำส่งแก่สถาบันวิจัยเทคโนโลยี ปตท. อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป

จากพื้นฐานความสำเร็จที่ผ่านมาร่วมกับเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทรัพยากรและเทคโนโลยีสาหร่าย รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการวิจัยพัฒนาด้านสาหร่ายของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงได้สนับสนุนโครงการ Flagship คือ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. (TISTR Algal Excellent Center-TISTR ALEC) โดยวิสัยทัศน์ของ TISTR ALEC คือ เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านสาหร่ายที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานของประเทศ ที่มีผลงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการให้บริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 ปี ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของสาหร่ายขนาดเล็กที่มีบทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ วว. จึงเป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานในด้านนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดตั้งคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย (TISTR Algae Culture Collection, TISTR ACC) ซึ่งในปัจจุบันมีการรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก (freshwater microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล กว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) ที่สำคัญและโดดเด่น คือ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-40,000 ลิตร เป็นระบบการเพาะเลี้ยงแบบต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร

การดำเนินงานด้านสาหร่ายของ วว. มีดังนี้

1. ด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาหร่ายอย่างยั่งยืนโดยการจัดตั้งคลังสาหร่าย วว. ณ เทคโนธานี เป็นการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention Biological Diversity, CBD) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ conservation) และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (sustainable utilization)

2. ด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน

3. ด้านงานบริการ

  • การให้บริการสายพันธุ์สาหร่าย
  • การจัดจำแนกชนิดของสายพันธุ์สาหร่าย
  • การตรวจนับจำนวนเซลล์สาหร่าย
  • การให้บริการตรวจวิเคราะห์สารพิษไมโครซิสตินจากสาหร่าย
  • การให้บริการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย
  • การให้บริการที่ปรึกษา

สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
https://www.alec-tech.com/

ติดต่อสอบถามงานบริการ คุณชุติมา คล้ายประยูร โทร. 0 2577 9000 ต่อ 9805 มือถือ 096 395 8713

Visits: 0